รู้จักกับไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ของโลก A-2009 H1N1

27 เม.ย. ที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศต่างพากันรายงานว่าที่กรุงเม็กซิโก ซิตี เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก ได้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ คือไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ สายพันธุ์ H1N1 หรือที่เรียกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งหลังจากที่ได้แพร่ระบาดเข้าสู่สหรัฐอเมริกา และแคนาดาแล้วจึงได้กระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

โดยในวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เพิ่มระดับเตือนภัยการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้เป็นระดับ 5 ซึ่งเป็นขั้นที่ตรวจพบว่ามีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในอย่างน้อย 2 ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หรือการติดเชื้อข้ามประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 52 องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยไข้หวัดใหญ่ 2009 จากระดับ 5 เป็นระดับ 6 หรือระดับสูงสุดแล้ว เนื่องจากเริ่มต้นแพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว อีกทั้งยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ยุโรป อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย เอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 41 ปีี่ที่่มีการประกาศเตือนภัยไข้หวัดใหญ่ระบาดกว้างขวางทั่วโลก

นอกจากนี้องค์การอนามัยยังประกาศให้เรียกชื่อโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดA H1N1 แทนการเรียกว่า ไข้หวัดหมู
เช่นเดียวกับที่ก่อนหน้านี้สหรัฐ เรียกไข้หวัดสายพันธุ์ดังกล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 H1N1 เพื่อแก้ความเข้าใจผิดที่ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เกิดจากหมู

h1n1_flu_

                ดร.แนนซี่ ค็อกซ์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยไข้หวัดใหญ่ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ กล่าวว่า ไวรัสไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ชนิด A H1N1 นี้ มีลักษณะพันธุกรรมหรือยีน ที่ประกอบด้วยเชื้อไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์รวมอยู่ด้วยกัน ได้แก่ เชื้อไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ เชื้อไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ และ เชื้อไข้หวัดหมูที่พบบ่อยในทวีปยุโรปและเอเชีย


                โดยสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เชื้อไข้หวัดพันธุ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือ Antigenetic Shift โดยมีหมูที่เป็นพาหะนำโรค โดยการถูกเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู และไข้หวัดใหญ่ เข้าไปอยู่ในตัว ต่อมาเซลล์ในตัวหมูถูกไวรัสตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปโจมตี ทำให้หน่วยพันธุกรรมไวรัสดังกล่าวผสมปนเปกันระหว่างการแบ่งตัว กลายเป็นเชื้อพันธุ์ใหม่ขึ้น


                ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่า นายเอเดรียน กิบส์ ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยพัฒนายาต้านไวรัส ทามิฟลู ของบริษัทโรช และเป็นผู้ศึกษาวิวัฒนาการของเชื้อโรคมาเป็นเวลานานถึง 40 ปี เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์รายแรกๆที่วิเคราะห์ส่วนประกอบทางด้านพันธุกรรมเปิดเผยว่า เขาตั้งใจที่จะตีพิมพ์รายงานที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ จากไข่ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เพาะไวรัสและบริษัทยาได้นำไปใช้เพื่อผลิตวัคซีนก็เป็นได้
โดยนายกิบส์กล่าวว่า

การชี้เบาะแสของต้นตอไวรัสอาจจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของการแพร่เชื้อและสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งขณะนี้องค์การอนามัยโลกอยู่ในระหว่างการพิจารณารายงานฉบับนี้

pig-flu3

                น.พ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดใหม่นี้ว่า  แม้จะมีเชื้อตั้งต้นมาจากหมู แต่ระยะแพร่ระบาดคือ ติดต่อจากคนสู่คน ดังนั้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากหมูไม่มีอันตรายแต่อย่างใด


                ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับ“ไข้หวัดนก” ที่เคยแพร่ระบาดในอดีต ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คนได้นั้น จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผู้ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ มีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 5-7 ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าอัตราของผู้เสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก

3471986083_2ec67af51e

 อันตรายของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009


1.เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นไวรัสใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเกิด ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันตัวนี้
2.เป็นไวรัสที่ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
3.ผู้ที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอได้แก่ เด็ก คนชรา และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ เป็นต้น มีโอกาสที่จะป่วยหนักและอาจจะเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
4.เมื่อเกิดการระบาดอย่างกว้างขว้างในประเทศ นอกจากจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจในเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเฉพาะสถานที่มีกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน โรงงาน โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า เป็นต้น ข้อควรระวังเด็กเล็กที่มีผู้ปกครองอาจได้รับทราบอาการป่วยช้า เนื่องจากเด็กไม่ได้บอกให้ทราบ
5.ผู้ที่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จะมีความรุนแรงต่อร่างกายน้อย น.พ. Belinda Ostrowsky จากศูนย์การแพทย์ Montefiore นิวยอร์ค กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดชนิดนี้ เพียงเล็กน้อยในสหรัฐฯ หากเทียบกับยอดผู้เสียชีวิตด้วยไข้หวัดตามฤดูกาลประมาณ 2,000 คน จากทุกปี

หวัด2009

 

อาการ


อาการของผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จะมีอาการใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นตามปกติ คือ มีไข้ขึ้นสูง ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไอ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกายรุนแรง ท้องร่วง และปวดศีรษะรุนแรง อาการป่วยจะพัฒนารวดเร็วและจะมีอาการหายใจลำบากอย่างรุนแรงภายใน 5 วัน ส่วนในกรณีที่มีอาการรุนแรง เกิดจากมีการอักเสบที่ปอด จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยถ้าผู้ป่วยมีร่างกายที่แข็งแรงจะทุเลาภายใน 5-7 วัน ภายหลังจากรับประทานยาตามอาการ ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพแข็งแรงและอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย แต่ถ้าผู้ป่วยมีภูมิต้านทานอ่อนแอ (ผู้สูงอายุหรือเด็ก) จะมีผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าคนธรรมดา โดยเฉพาะถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา ดังนั้นดีที่สุดผู้ป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ (เมื่อรู้สึกเป็นไข้ภายใน 2 วัน) เมื่อแพทย์ตรวจสอบแล้วพบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จะได้รับประทานยาที่ใช้รักษาโรคโดยตรงคือ ยาทามิฟูล หรือ ซานามิเวียร์ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

การติดต่อ


 การแพร่ติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคน คือ
1. แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอ หรือจามรดกัน โดยที่เชื้อจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย          
2. ติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา หากนำมือที่มีเชื้อไปสัมผัสร่างกาย เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา

การป้องกัน


1.ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิด เพื่อป้องกันเวลาจาม
2.หมั่นล้างมือ
3.หากมีอาการ ไข้อย่างรุนแรง และไข้ไม่ลดภายใน 2 วัน ควรรีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด
4. หลีกเลี่ยงชุมชนแอดอัด และงดเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
5. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

การรักษา


                ในเอกสารเรื่องการแพร่ระบาดของไข้หวัดชนิดนี้ ที่กงสุลใหญ่ ในนครลอสแองเจลิสของสหรัฐ แสดงข้อมูลที่ระบุว่า สามารถใช้ยาชนิดเดียวกับยาไข้หวัดใหญ่ทั่วไปในการรักษาไข้หวัดชนิดเอ H1N1 ได้ คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) หรือ ทามิฟลู (Tamiflu) และยา zanamivir ซึ่งเป็นยาชนิดพ่น แต่ทั้งนี้ยาดังกล่าว ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้
                ทั้งนี้มีรายงานระบุว่าในสหรัฐอเมริกา ผลการตรวจเชื้อไวรัสชนิดนี้พบว่าเชื้อดังกล่าวดื้อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine  อย่างไรก็ตาม WHO ออกมายอมรับว่ายาทามิฟลูที่มีอยู่ในขณะนี้อาจไม่เพียงพอต่อการับมือกับการแพร่ระบาดที่อาจเพิ่มมากขึ้น

tamiful 

สถานการณ์แพร่ระบาด


          วันที่ 12 มิ.ย. 52 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยไข้หวัดใหญ่ 2009 จากระดับ 5 เป็นระดับ 6 หรือระดับสูงสุดแล้ว ซึ่งหมายถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว อีกทั้งยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ยุโรป อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย เอเชีย และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว


        นอกจากนั้น WHO ได้แนะนำให้บริษัทเวชภัณฑ์ที่ผลิตวัคซีนต่างๆ เร่งผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้เสร็จสิ้น ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ก่อนหันไปผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ท้องตลาดอย่างเร็วที่สุดเดือนกย.ปีนี้ และ WHO จะเริ่มแจกยาต่อต้านไวรัส “ทามิฟลู” ให้ประเทศต่างๆ อีก 5.65 ล้านชุด เพิ่มเติมจากที่แจกไปแล้ว 5 ล้านชุด
  
สถานการณ์ในประเทศไทย


                ซึ่ง วันที่ 1 พ.ค. 52 นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าที่ประชุมศูนย์บัญชาการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ให้สรุปใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ 2009H1N1 และมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009  เพื่อให้ง่ายแก่การสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่สาธารณะ

มาตรการเฝ้าระวัง


                สธ.ใช้มาตรการแซนด์วิช คือมาตรการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนที่ด่านตรวจโรคประจำสนามบิน เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ได้เพิ่มกำลังแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำการจากวันละ 60 คน เป็นวันละเกือบ 100 คน ตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีระบบการเชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยในรายที่มีไข้และเดินทางกลับจากต่างประเทศให้พื้นที่ต่างๆ ได้ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตามด่านพรมแดนต่างๆ และการค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านชุมชน และที่โรงพยาบาล คลินิก โรงพยาบาลเอกชนอย่างเข้มแข็ง เพื่อค้นหาผู้ป่วยให้พบอย่างรวดเร็ว ให้การดูแลรักษาและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อให้อยู่ในวงจำกัด

ยาต้านไวรัส


                กระทรวงสาธารณะสุขได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม อภ.) เจรจากับบริษัทยาในประเทศอินเดียซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบการการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้ยังคงราคาเดิมเป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากขณะนี้เกิดการระบาดทำให้หลายประเทศสั่งซื้อจำนวนมาก จนราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น
                เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไวต่อยาโอเซลทามิเวียร์และยาซานามิเวียร์ เพราะยาทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มเดียวกันที่ยับยั้งไม่ให้ไวรัสแตกตัว โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อต้องรับยาติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน วันละ 2 ครั้ง และต้องรับยาภายใน 48 ชั่วโมง เมื่อมีอาการจึงจะได้ผลเต็มประสิทธิภาพ เพียงแต่ยาโอเซลทามิเวียร์เป็นยากินชนิดเม็ด ส่วนยาซานามิเวียร์เป็นยาพ่น

กระทรวงสาธารณสุขปรับมาตรการในการป้องกันโรค


           มุ่งเน้นการให้ความรู้ประชาชนให้รู้จักการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งมีอาการป่วยเล็กน้อย ให้หยุดพักเพื่อรักษาตัวที่บ้าน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โดยใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังไอ จาม และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น แต่หากอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีไข้สูง หรือไอมาก หรือหายใจลำบาก ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล
 
สธ.ออกประกาศฉบับ 7 แนะประชาชนรับมือไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่


                 วันที่ 13 มิ.ย. 52 ได้ออกคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 7 เพื่อการป้องกันโรคสำหรับกลุ่มต่างๆ ซึ่งได้ปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และข้อมูลวิชาการที่ทันสมัย ในคำแนะนำดังกล่าว สำหรับประชาชนทั่วไปเน้นการป้องกันตนเอง ไม่ให้ป่วย และการป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ป่วย สำหรับสถานศึกษา สถานประกอบการ และสถานที่ทำงาน เน้นการให้นักเรียนหรือพนักงานที่มีอาการป่วยหยุดเรียนหรือหยุดงาน เพื่อไม่ให้จำเป็นต้องปิดสถานศึกษาหรือสถานประกอบการ โดยสามารถ ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.moph.go.th
http://beid.ddc.moph.go.th/th/images/news/people/moph7.doc


                ทั้งนี้หากประชาชนต้องการข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.thและหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค  โทร 02 -590-3333  และที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 02-590-1994ตลอด 24 ชั่วโมง

ศิริราชถอดรหัสพันธุกรรมไวรัส ได้


                โรงพยาบาลศิริราช แถลงผลสำเร็จการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ครั้งแรกของไทย ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่เร็วขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสสายพันธุ์ H1N1 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคต

                ทั้งนี้เป็นความสำเร็จจากการตรวจและศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่มานานกว่า 30 ปี ซึ่งการตรวจหาเชื้อ H1N1 นั้นโรงพยาบาลศิริราชสามารถตรวจหาได้ภายใน 24 ชั่วโมงและสามารถวิเคราะห์ลำดับนิวคลิโอไทด์เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของเชื้อได้ภายใน 3 วัน
                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการวิจัยดังกล่าว จะสามรถต่อยอดไปถึงขั้นการผลิตวัคซีนป้องกันได้ แต่คงไม่ทันต่อผลิตวัคซีน เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้

รพ.รามาพัฒนาชุดตรวจเชื้อ all-in-one


วันที่ 15 พ.ค. โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยผลสำเร็จ ในการพัฒนา “ชุดตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่”แบบออล-อิน-วัน ซึ่งสามารถตรวจเชื้อไข้หวัดทุกสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบันได้พร้อมกันในครั้งเดียว โดยรู้ผลภายใน 4 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไข้หวัดนก (เอช5เอ็น1) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (เอช1เอ็น1) รวมถึงเชื้อไวรัสที่ดื้อยา

แพทย์เตือนอย่ากินยาลดไข้ก่อนลงเครื่อง 


นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเตือนกลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศว่า ไม่ควรกินยาลดไข้ก่อนลงเครื่อง ซึ่งหลายคนกลัวหากมีไข้ จะถูกกักตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะหากป่วยจากเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จริง จะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ ทั้งยังจะแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ แต่หากได้รับการรักษาทันเวลา ก็จะหายขาด

 

ที่มา : สำนักข่าวเจ้าพระยา, มิถุนายน 2552